กล้วยป่าที่พบในประเทศไทย


กล้วยสกุล Musa

มีการแตกหน่อและใช้ผลรับประทานได้
        กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Callimusa ที่พบในประเทศไทยขณะนี้มีชนิดเดียว คือ กล้วยป่าชนิด Musa gracilis Horltt. ชื่ออื่นๆ กล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด กล้วยชนิดนี้ มีลำต้นเทียมสูง 0.6 – 2 เมตร โคนต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร กาบและใบมีปื้นสีม่วงเข้ม ใบกว้าง 25-35 เซนติเมตร ยาว 90-150 เซนติเมตร สีเขียว มีนวล ก้านใบยาว 30-70 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งยาว 60 เซนติเมตรหรือกว่านั้น ก้านช่อดอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ดอกตัวเมียสีขาวหม่น ปลายสีเขียว ยาว 2.5-4 เซนติเมตร เรียวชิดกัน 3-8 แถว แถวหนึ่ง มี 2-4 ดอก ใบประดับกว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เวนติเมตร สีม่วงปลายสีเขียว อาจร่วงหลุดไปก่อนบ้าง ดอกตัวผู้สีเหลือง ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลตรง สีเขียว มีนวลและมีทางสีม่วงตามยาวของผล ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยม 2-3 เหลี่ยม ปลายทู่ ก้านผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีขนประปราย แก่แล้วผิวเกลี้ยง กล้วยป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในท้องที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส ขึ้นในป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ชาวมลายูเรียกว่าปีชังกะแต ปีชังเวก และปีชังโอนิก
        กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Eumusa ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ กล้วยป่า ( Musa acuminata Colla) ชื่ออื่นๆ กล้วยแข้ (เหนือ) กล้วยเถื่อน (ใต้ ) กล้วยลิง (อุตรดิตถ์) กล้วยหม่น (เชียงใหม่) กล้วยป่า มีลำต้นเทียมสูง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นนอกมีปื้นดำ มีนวลเล็กน้อย ส่วนด้านในสีแดง ก้านใบสีชมพูอมแดงมี จุดดำ มีครีบเส้นกลางใบสีเขียว ใบชูขึ้นค่อนข้างตรง ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ๆ มาก ใบประดับรูปค่อนข้างยาว ปลายแหลมด้านบนสีม่วงอมแดง มีนวล ด้านล่างที่โคนสีแดงจัด เมื่อใบกางตั้งขึ้นจะเอนไปด้านหลัง และม้วนงอเห็นได้ชัด การเรียงของใบประดับช่อดอกไม่ค่อยช้อนมาก และจะมีลักษณะนูนขึ้นที่โคนของใบประดับ เห็นเป็นสันชัดเจน เมื่อใบประดับหลุดออก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ผลมีก้านและมีขนาดเล็ก รูปร่างของผลมีหลายแบบแล้วแต่ชนิดย่อย (Subspecies) บางชนิดมีผลโค้งงอ บางชนิดไม่โค้งงอ ผลมีเนื้อน้อยสีขาว รสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผนังหนา และแข็ง
กล้วยป่าที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดย่อย (Subspecies) คือ
• Musa acuminata Colla ssp. siamea Simmonds
• M. acuminata Colla ssp. burmanisa Simmonds
• M. acuminata Colla ssp. malaccensis (Ridl.) Simmonds
• M. acuminata Colla ssp. microcarpa (Becc.) Simmonds
        กล้วยเหล่านี้พบว่าขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าดิบ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย กล้วยชนิดนี้ นอกจากขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อแล้ว ยังใช้เมล็ดปลูกได้ ผลของกล้วยป่าเมื่อสุกกินได้ แต่ไม่นิยมเพราะมีเมล็ดมาก ผลอ่อนและหัวปลีรับประทานได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น